วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช โพแทชเซียม


                                                               ธาตุโพแทสเซียม
                                                                            K

            ธาตุโพแทสเซียมเป็นธาตุที่สำคัญรองมาจากไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ดินมักขาดโพแทสเซียมมากที่สุด เนื่องจาก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชมาก โพแทสเซียมที่พืชดูดกินขึ้นมาจากดินจะเคลื่อนย้ายจากส่วนที่แก่ไปยังส่วนที่อ่อน ดังนั้น อาการขาดธาตุโพแทสเซียมจะปรากฏในใบแก่ก่อน ในพืชใบเลี้ยงคู่ใบจะเกิดอาการคลอโรซีส (chlorosis) ซึ่งมีอาการสีเหลืองซีดต่อมาจะกลายเป็นจุดแห้งตาย (necrotic lesion) ในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ธัญพืช เซลล์ที่ปลายใบและขอบใบจะตายก่อน และจุดแห้งตายจะเกิดขึ้นจากปลายใบไปหาโคนใบซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อ่อนกว่าข้าวโพดที่ขาดโพแทสเซียมจะมีก้านที่อ่อนแอและรากมักถูกทำลายได้ง่ายโดยจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดรากเน่า โพแทสเซียมเป็นธาตุที่กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์ด้วยแสงและการหายใจ รวมทั้งกระตุ้นเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการสร้างแป้งและโปรตีนนอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นไอออนที่สำคัญที่ก่อให้เกิดออสโมติกโพเทนเชียลแก่เซลล์ทำให้เซลล์เต่งขึ้น
คุณสมบัติของธาตุโพแทสเซียมในดิน
            ในดินโดยทั่วไปจะมีธาตุโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบอยู่ในปริมาณที่มากกว่าธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส เนื่องจากหินและแร่หลายชนิดเป็นวัตถุต้นกำเนิดดินจะมีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ดินประเภทต่าง ๆ จะมีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุต้นกำเนิดดิน กล่าวคือ ถ้าวัตถุต้นกำเนิดดินมีสัดส่วนและปริมาณของแร่เฟลด์สปาร์และไมกาอยู่จำนวนมากจะทำให้ดินมีปริมาณโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบอยู่มากด้วย ทั้งนี้เพราะแร่ทั้งสองชนิดนี้เมื่อสลายตัวกลายเป็นดินจะให้โพแทสเซียมตกค้างอยู่ในดินในส่วนที่เรียกว่า ดินเหนียว หรือ แร่ดินเหนียว จึงมักพบอยู่เสมอว่าดินที่มีเนื้อละเอียดหรือมีอนุภาคดินกลุ่มขนาดดินเหนียวเป็นองค์ประกอบอยู่มากจะมีโพแทสเซียมในปริมาณมากกว่าดินที่มีเนื้อดินหยาบกว่า โพแทสเซียมที่เป็นองค์ประกอบในดินเนื้อหยาบ หรือ ดินทราย ปริมาณส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเศษแร่ที่อยู่ในลักษณะกำลังผุพังสลายตัวอยู่ หรือ ยังมีสภาพเป็นเศษแร่ก้อนเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้ผุพัง ส่วนในดินเนื้อละเอียด หรือ ดินเหนียว โพแทสเซียมปริมาณส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปที่เป็นองค์ประกอบอยู่ร่วมกับอนุภาคขนาดดินเหนียว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นองค์ประกอบอยู่ในโครงสร้างของแร่ดินเหนียว และโพแทสเซียมบางส่วนจะอยู่ในสภาพไอออนบวก (K+) ดูดยึดอยู่กับผิวของคอลลอยด์ตรงส่วนที่มีประจุไฟฟ้าลบ ซึ่งไอออนส่วนนี้ถือว่าอยู่ในสภาพที่แลกเปลี่ยนได้ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในสภาพที่ถูกตรึงอยู่ในดินอาจกล่าวได้ว่า แหล่งของโพแทสเซียมที่สำคัญคือ หินและแร่ชนิดต่างๆ ที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ และเป็นวัตถุต้นกำเนิดดินนั่นเอง โพแทสเซียมที่มีอยู่ในดินแบ่งออกเป็น 3 รูป ที่สำคัญคือ
1. รูปที่ละลายน้ำได้ (water soluble forms) โพแทสเซียมรูปนี้จะอยู่ในสภาพของไอออน
ที่มีประจุไฟฟ้าบวกละลายอยู่ในสารละลายดิน พืชสามารถใช้ประโยชน์ของโพแทสเซียมรูปนี้ได้ทันที โดยดูดกินเข้าไปทางราก แต่โพแทสเซียมรูปนี้ก็มีปริมาณน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรูปอื่น ๆ
2. รูปไอออนที่แลกเปลี่ยนได้ (exchangeable forms) โพแทสเซียมรูปนี้จะดูดยึดอยู่กับผิว
ของคอลลอยด์ดินโดยเฉพาะแร่ดินเหนียว และบางส่วนจะถูกปลดปล่อยออกมาอยู่ในสภาพไอออนในสารละลายดินและเป็นประโยชน์ต่อพืช
3. รูปที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ (non – exchangeable forms) โพแทสเซียมรูปนี้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ยากมาก ได้แก่ โพแทสเซียมที่เป็นองค์ประกอบของแร่ชนิดต่าง ๆ ในดิน และ
โพแทสเซียมส่วนที่ถูกตรึงเอาไว้โดยอนุภาคดินเหนียว
การตรึงโพแทสเซียมในดิน
            การตรึงโพแทสเซียมในดินเป็นกระบวนการเปลี่ยนรูปของโพแทสเซียม ที่พืชใช้ประโยชน์ได้ทันทีไปอยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ไม่ได้โดยตรง ซึ่งโพแทสเซียมส่วนที่ถูกตรึงอยู่นี้จะอยู่ในสภาพไอออนที่ถูกดูดยึดเอาไว้ด้วยแรงจำนวนมากระหว่างแร่ดินเหนียว 2 อนุภาค ดังนั้นการที่จะทำให้โพแทสเซียมถูกปลดปล่อยออกมาอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับ ชนิดของแร่ดินเหนียวที่ตรึงโพแทสเซียมไอออนเอาไว้ และขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของดินเองด้วย กล่าวคือ ดินที่มีแร่ดินเหนียวหรือดินเหนียวชนิดอิลไลต์ เป็นองค์ประกอบอยู่ในปริมาณมาก ก็จะทำให้การปลดปล่อยโพแทสเซียมกลับคืนมาได้ยากกว่าแร่ดินเหนียวชนิดมอนท์มอริลโลไนต์ สำหรับสภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้โพแทสเซียมที่ถูกตรึงอยู่ถูกปลดปล่อยออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ สภาพที่ดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น หรือ ดินอยู่ในสภาพน้ำขังเป็นเวลานาน เช่น ดินที่ใช้ทำนา

การจัดการเกี่ยวกับธาตุโพแทสเซียมในดินที่ใช้ปลูกพืช 
           ดินโดยทั่วไปที่มีเนื้อดินละเอียดและอยู่ในกลุ่มของดินเหนียวส่วนใหญ่มักมีปริมาณธาตุ
โพแทสเซียมเพียงพอต่อการปลูกพืช ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมโดยการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมอีก แต่ถ้าต้องการจะใส่ก็ใส่ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็พอ ส่วนในกรณีดินเนื้อหยาบ เช่น ดินร่วนและดินทราย อาจจะต้องใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมในปริมาณที่มากกว่าในดินเหนียว โดยเฉพาะในดินทรายอาจจะต้องใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมเพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกเหนือจากการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมโดยตรงแล้ว การจัดการดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ก็ช่วยลดการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมให้น้อยลงได้บ้าง การป้องกันการสูญเสียหน้าดินโดยการชะล้างและพังทลายของดินโดยน้ำพัดพาไป ก็จะช่วยรักษาธาตุโพแทสเซียมเอาไว้ได้อีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น