วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

โรคเอ็นอักเสบ


โรคเอ็นอักเสบ (Tendinitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณตำแหน่งของเส้นเอ็นที่เกิดการอักเสบขึ้น มักเป็นที่บริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเข่า แต่ก็อาจเกิดขึ้นที่บริเวณข้อสะโพก ข้อเท้า และข้อมือ ได้เช่นกัน

โรคเอ็นอักเสบที่รู้จักกันดีมีชื่อเรียกเฉพาะ ได้แก่ tennis elbow, golfer's elbow, pitcher's shoulder, swimmer's shoulder และ jumper's knee

สาเหตุของโรค

สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคเอ็นอักเสบ คือภยันตรายต่อเส้นเอ็น การกระทบกระแทก หรือการใช้งานบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน จากการเล่นกีฬา หรือจากอุบัติเหตุอาจพบว่าเกิดขึ้นในโรคข้ออักเสบทั่วร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

นักว่ายน้ำ นักเทนนิส นักกอล์ฟ มีโอกาสเกิดโรคเอ็นอักเสบบริเวณหัวไหล่ แขน ข้อศอก มากกว่าปกติ ในขณะที่นักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล นักวิ่ง จะเกิดโรคเอ็นอักเสบบริเวณขา เข่า และเท้า

ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคเอ็นอักเสบมากขึ้น

อาการของโรค

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณ เส้นเอ็นที่เกิดการอักเสบ ความรุนแรงแตกต่างกันไป อาจปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากจนทนไม่ได้ ในรายที่อาการรุนแรง เส้นเอ็นที่อักเสบเกิดฉีกขาด จะมีอาการที่รุนแรงมากที่สุด

โรค Tennis elbow จะ ปวดบริเวณข้อศอกเวลาขยับหมุนข้อศอก หรือเวลากำสิ่งของในมือ โรคAchilles tendinitis จะปวดบริเวณเอ็นร้อยหวาย โรค Patellar tendinitis จะปวดบริเวณสะบ้า ในขณะที่ Rotator cuff tendinitis จะปวดปริเวณหัวไหล่

การวินิจฉัยโรค

จากประวัติอาการ ตำแหน่ง ที่เกิดการอักเสบ และตรวจร่างกายระบบกระดูกและข้อโดยละเอียด การตรวจภาพรังสีมักจะไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคแต่อย่างใด แต่อาจช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการได้ในบางกรณี หากสงสัยว่าเกิดจากโรคข้ออักเสบ
รูมาตอยด์ แพทย์อาจพิจารณาตรวจเลือดเพิ่มเติม

แนวทางการรักษาโรค

หลักสำคัญคือ ระงับอาการปวด และลดการอักเสบที่เกิดขึ้น ผู้ ป่วยต้องพักผ่อนให้เต็มที่ งดใช้งานข้อบริเวณที่เส้นเอ็นอักเสบ ควรประคบด้วยความเย็นเป็นครั้งคราว การใช้ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการได้ตามสมควร การใช้ยาลดการอักเสบช่วยให้อาการดีขึ้น

ในรายที่เป็นมาก แพทย์อาจพิจารณาฉีดยา Corticosteroid เข้า ไปรอบๆ บริเวณเส้นเอ็นที่เกิดการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้มาก แต่ทั้งนี้ไม่ควรฉีดบ่อย จะทำให้เส้นเอ็นไม่แข็งแรงและอาจฉีกขาดได้

กายภาพบำบัด และการออกกำลังกาย เพื่อเสริมกำลังของกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นแข็งแรงขึ้น

การผ่าตัด ในกรณีที่เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาด เทคนิดการซ่อมเส้นเอ็นทำได้หลายแบบ รวมทั้งการผ่าตัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของเส้นเอ็นอีกด้วย