วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช ไนโตรเจน


                                                             ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช  

                                                                                 N                                                   
ธาตุไนโตรเจน
              ไนโตรเจนจัดเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการปริมาณมาก (macronutrient elements) บางทีเรียกธาตุอาหารกลุ่มนี้ว่า มหธาตุ หรือ ธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบหลายชนิดในพืช เช่น โปรตีน คลอโรฟิลล์ กรดนิวคลิอิกและวิตามิน เป็นต้น เมื่อพืชได้รับธาตุนี้เป็นปริมาณที่พอเพียงแล้วพืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรง โดยเฉพาะที่ใบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสีเขียวเข้ม ไนโตรเจนเป็นธาตุที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชให้ตั้งตัวได้เร็วในระยะแรก นอกจากนั้นยังช่วยทำให้ผลผลิตของพืชมีคุณภาพด้วย เช่น พืชผักสวนครัว ที่ใช้ใบลำต้นและหัวเป็นอาหาร พืชให้น้ำตาล พืชให้เส้นใย จะเห็นว่าไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อผลผลิตและคุณภาพของพืช ซึ่งพืชต้องการธาตุนี้ในปริมาณมากรองลงมาจาก คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน อาการผิดปกติของพืชเมื่อขาดธาตุไนโตรเจน เนื่องจากไนโตรเจนเป็นธาตุที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายในพืช อาการผิดปกติเมื่อพืชขาดจะแสดงออกที่ใบแก่ก่อน กล่าวคือ ใบจะสูญเสียสีเขียวโดยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม หรือสีเขียวอ่อน หรือสีขาว ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวนี้เรียกว่าคลอโรซีส (chlorosis) นอกจากนี้ที่ปลายใบและขอบใบจะค่อย ๆ แห้งและลุกลามเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดใบที่แสดงอาการผิดปกติจะร่วงหล่นจากลำต้นก่อนเวลาอันสมควร นอกจากอาการผิดปกติจะเกิดขึ้นที่ใบแล้ว ที่ส่วนอื่น ๆ เช่น ลำต้นยังอาจมีสีเหลือง บางครั้งก็มีสีชมพูเจือปน ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็กและมีจำนวนน้อยกว่าปกติ พืชเจริญเติบโตช้ามาก
ธรรมชาติและคุณสมบัติของธาตุไนโตรเจนในดิน
              แหล่งที่สำคัญของไนโตรเจนในดินตามธรรมชาติ คือ อินทรียวัตถุ ซึ่งอินทรียวัตถุจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ดินชนิดต่าง ๆ จะทำให้ไนโตรเจนที่อยู่ในรูปอินทรีย์ไนโตรเจนถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปอนินทรียไนโตรเจน รูปของไนโตรเจนในดินแบ่งออกเป็น 2 รูปใหญ่ๆคือ อินทรีย์ไนโตรเจน พบว่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 97 – 98 ของไนโตรเจนทั้งหมดในดิน ได้แก่ โปรตีน
กรดอะมิโน และกรดนิวคลิอิก แต่ไนโตรเจนรูปที่กล่าวถึงนี้ พืชไม่อาจนำไปใช้ได้โดยตรง จะต้องถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปอนินทรีย์ไนโตรเจนเสียก่อน และ รูปอนินทรียไนโตรเจน พบว่ามีประมาณร้อยละ 2 – 3 ของไนโตรเจนทั้งหมดในดิน ได้แก่ แอมโมเนียมไอออน (NH4+) ไนเตรตไอออน (NO3- ) และไนไตรต์ไอออน (NO2-) รูปของก๊าซต่าง ๆ ประกอบด้วย ไนโตรเจนออกไซด์ (NO)
ไดไนโตรเจนออกไซด์ (N2O) และก๊าชไนโตรเจน (N2) ซึ่งรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชโดยตรงคือ แอมโมเนียมไอออน (NH4+) ไนเตรตไอออน (NO3-) และไนไตรต์ไอออน (NO2-) ไนโตรเจนในดินได้มาจากกระบวนการตรึงไนโตรเจนโดยจุลินทรีย์ดินและสิ่งมีชีวิตและได้มากับน้ำฝน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ก๊าซไนโตรเจนในอากาศถูกออกซิไดส์ให้เปลี่ยนรูปเป็นไนตรัสออกไซด์ (NO) และไนตริกออกไซด์ (NO2) ไนโตรเจนทั้งสองรูปนี้จะละลายในน้ำฝนที่ตกลงมาสู่พื้นดิน มีการประมาณไว้ว่าปีหนึ่ง ๆ ไนโตรเจนในดินที่ได้รับโดยกระบวนการนี้ ถ้าอยู่ในเขตอบอุ่นประมาณ 0.4 กิโลกรัม/ไร่ และถ้าอยู่ในเขตร้อนชื้นจะได้รับประมาณ 1.6 กิโลกรัม/ไร่












                                                                   การจัดการเกี่ยวกับธาตุไนโตรเจนในดินที่ใช้ปลูกพืช
              การปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานานรวมทั้งการจัดการดินหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น การเผาตอซัง หรือ เคลื่อนย้ายตอซังออกไปจากพื้นที่เพาะปลูก จะมีผลทำให้ดินสูญเสียธาตุไนโตรเจน และอาจทำให้ดินมีปริมาณธาตุไนโตรเจนไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชในการปลูกครั้งต่อไป ถึงแม้ว่าธาตุไนโตรเจนในดินจะได้รับเพิ่มเติมจากการที่ไนโตรเจนละลายมากับน้ำฝน และ การตรึงของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดิน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช การเพิ่มเติมโดยการใส่ปุ๋ยเคมีจึงมีความจำเป็น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงในดินจึงต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการเลือกชนิดของปุ๋ยไนโตรเจน ปริมาณที่ต้องการใส่ จำนวนครั้งในการแบ่งใส่ ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงชนิดของพืชและชนิดของดินด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น