วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

กฎหมายตราสามดวง


กฎหมายตราสามดวง

          คือ ชื่อประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวน ๑๑  คน นำตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มาชำระ และปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายต่างๆ ให้มีความยุติธรรมและเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ชำระขึ้น และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม  พ.ศ. ๒๓๔๗*  นอกจากจะนำกฎหมายเก่าที่ใช้กันในสมัยอยุธยามาชำระแล้ว ก็ยังได้ตรากฎหมายใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย

          ประเทศไทยใช้กฎหมายตราสามดวงเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งไทยต้องเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในพ.ศ. ๒๓๙๘  และทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับชาติตะวันตกอื่นๆ  ชาติตะวันตกเหล่านั้นมีระบบกฎหมายที่แตกต่างไปจากกฎหมายของไทย  และมองว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อน จึงเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากไทย เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทยและศาลไทย  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องเร่งรีบปฏิรูปกฎหมาย และการศาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก เพื่อไทยจะได้เอกราชทางกฎหมายและการศาลคืนมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระกฎหมาย และจัดทำประมวลกฎหมายใหม่ขึ้น การชำระและการร่างกฎหมายใหม่นั้นได้กระทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะๆเมื่อกฎหมายลักษณะใดเสร็จ ก็ประกาศใช้ไปพลางๆ ก่อน จนใน พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้ครบทุกลักษณะ  และกฎหมายตราสามดวงก็ได้ยกเลิกไปในที่สุด
ที่มาของกฎหมายตราสามดวง 
          การทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของกฎหมายตราสามดวงนั้น ควรเข้าใจความหมายของคำว่า กฎหมายก่อน  ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของกฎหมายว่ากฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ ดังนั้นที่มาของตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ใช้กันมานานกว่า ๔๐๐  ปีในสังคมไทย และได้นำมาประมวลไว้ในกฎหมายตราสามดวง   จึงสะท้อนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมของไทย ในสมัยอยุธยากฎหมายไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย โดยผ่านมาทางมอญ  คือ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” ซึ่งมอญเรียกว่า คัมภีร์ธัมมสัตถัม” คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อว่ามิได้เกิดขึ้นจากสติปัญญาของ มนุษย์ แต่เป็นผลงานที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้เป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรมของพระมหากษัตริย์ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้เผยแพร่ไปในดินแดนต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งกฎหมายของอยุธยาที่ได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) ก็ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เช่นกัน และได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลักษณะต่างๆ หลายครั้งในรัชกาลต่อๆ มา รวมทั้งมีการตรากฎหมายใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย กฎหมายต่างๆ ที่เป็นการสืบสาขาคดี โดยยึดมูลคดีตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นหลักนั้น เรียกว่า พระราชศาสตร์

          ขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์ก็ได้ทรงออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากที่มีกำหนดไว้ในมูลคดีตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ รวมถึงการวินิจฉัยคดีความต่างๆ รวบรวมเป็นกฎหมายของแผ่นดินอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า พระราชนิติศาสตร์ หรือพระราชนิติคดี”  ดังนั้นตัวบท กฎหมายต่างๆ ในกฎหมายตราสามดวงจึงเป็นทั้ง พระธรรมศาสตร์และ พระราชศาสตร์”  และ  “พระราชนิติศาสตร์ หรือ พระราชนิติคดี” ผสมผสานกันโดยมีคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์เป็นแกนหลักที่สำคัญ

          เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจและสิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชได้ทรงกอบกู้ชาติจนได้รับอิสรภาพกลับคืนมา และทรงเร่งบูรณะฟื้นฟูบ้านเมืองตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี จนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสมัยรัตนโกสินทร์ พระองค์ก็ได้ทรงทำนุบำรุงประเทศในทุก
ด้าน โดยเฉพาะสรรพวิชาการความรู้ต่างๆ ที่ขาดตอนไป เนื่องจากการเสียกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวมาแล้ว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น