วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

การกลั่นน้ำมัน


                                                       การกลั่นน้ำมัน

                   ปิโตรเลียมไม่ว่าจะในรูปของน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติล้วนมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีประโยชน์มากมาย สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้การแยกองค์ประกอบของไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในปิโตรเลียมออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ ทั้งโดยกระบวนการกลั่นน้ำมัน หรือการแยกก๊าซธรรมชาติถือได้ว่าเป็นการเพิ่มพูนมูลค่าของทรัพยากรปิโตรเลียม กระบวนการกลั่นน้ำมันคือการแปรเปลี่ยนสภาพน้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปชนิดต่างๆตามความต้องการของตลาดและตามประเภทของการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และยางมะตอย นอกจากนี้ยังใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันหล่อลื่น จารบีและเคมีภัณฑ์ต่างๆ กระบวนกลั่นน้ำมันแตกต่างกันออกไปแต่ละโรงกลั่นน้ำมันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของกระบวนการกลั่นของแต่ละแห่ง รวมถึงคุณสมบัติของน้ำมันดิบที่นำมากลั่นและชนิดคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ต้องการ ในประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง กระบวนการกลั่นน้ำมันประกอบด้วยกรรมวิธีที่สำคัญได้แก่ การแยก การเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี การปรับปรุงคุณภาพ และการผสม การแยก คือการแยกส่วนประกอบทางกายภาพของน้ำมันดิบด้วยวิธีการกลั่นลำดับส่วน โดยนำน้ำมันดิบมากลั่นในหอกลั่น ซึ่งน้ำมันดิบจะถูกแยกออกเป็นน้ำมันสำเร็จรูปประเภทต่างๆตามช่วงจุดเดือดที่ต่างกัน ก่อนนำน้ำมันดิบเข้าหอกลั่นต้องแยกน้ำและเกลือแร่ที่ปนอยู่ออก หลังจากนั้นจึงส่งน้ำมันดิบผ่านเข้าไปในท่อเหล็กที่เรียงเป็นแถวอยู่ในเตาเผาซึ่งมีความร้อนประมาณ 340-385 องศาเซลเซียส น้ำมันดิบที่ร้อนรวมทั้งไอร้อนจะไหลผ่านเข้าไปในหอกลั่นบรรยากาศ ไอร้อนที่ลอยขึ้นไปเมื่อเย็นลงจะกลั่นตัว ควบแน่นเป็นของเหลวบนถาดที่เรียงกันเป็นชั้นหลายสิบชั้นภายในหอกลั่น ไอร้อนจะกลั่นตัวเป็นของเหลวในถาดชั้นใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับช่วงจุดเดือดของไฮโดรคาร์บอนในส่วนนั้นๆ ชั้นบนสุดของหอกลั่นซึ่งมีอุณหภูมิต่ำสุด จะเป็นก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ชั้นรองๆลงมาอุณหภูมิจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนของน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและน้ำมันดีเซลตามลำดับ ส่วนน้ำมันที่ก้นหอกลั่นหากนำไปผ่านกรรมวิธีอื่นๆ จะแยกเป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำมันเตาและยางมะตอย ส่วนต่างๆของน้ำมันดิบที่แยกได้ เรียกว่า ผลิตภัณฑ์กลั่นตรง การเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี คือการทำให้โมเลกุลของน้ำมันหนักแตกตัวเป็นน้ำมันเบาด้วยความร้อน หรือเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของน้ำมันเบาให้เป็นน้ำมันหนักเลยทำให้แตกตัวด้วยสารเร่งปฏิกิริยาเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างการใช้ผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเภท การปรับปรุงคุณภาพ หากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีการกลั่นลำดับส่วน และการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานและความต้องการของตลาด เนื่องมาจากอาจจะมีสิ่งไม่พึงประสงค์เจือปนอยู่ ได้แก่ กำมะถันหรือสารแปลกปลอมต่างๆ จำเป็นต้องขจัดออกด้วยวิธีการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งนอกจากคุณภาพจะดีขึ้นแล้วยังช่วยให้น้ำมันมีสีที่ตรงตามมาตรฐานด้วย การผสม คือการนำผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆที่ผ่านกระบวนการมาปรับปรุงหรือเติมสารตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามมาตรฐานที่กำหนด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น