วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช สังกะสี


                                                                    ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช
                                                                                         Zn
. สังกะสี (Zn) 
               สังกะสีเป็นจุลธาตุ (micro nutrient) ที่จำเป็นสำหรับพืชธาตุหนึ่ง เนื่องจากสังกะสีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์เมมเบรนและ เอนไซม์บางชนิด เช่น ดีไฮโดรจีเนส
(dehydrogenase) โปรติเนส (proteinase) และ เปปติเดส (peptidase) นอกจากนี้ยังช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน แร่ที่มีธาตุสังกะสีเป็นองค์ประกอบที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ สปาเลอไรท์ (ZnS) สมิทซอไนต์ (smithsonite : ZnCO3) และ เฮมิมอร์ไฟต์ [Heminorphite : Zn4 (OH)2 Si2O7 • H2O] เมื่อแร่เหล่านี้สลายผุผัง ก็จะปลดปล่อยสังกะสีออกมาในรูปซิงค์ทูไอออน (Zn2+) ซึ่งเป็นรูปที่เป็น
ประโยชน์ต่อพืชโดยตรง ซึ่งอยู่ในรูปสารละลายดิน บางส่วนจะอยู่ในรูปของไอออนพวกที่แลกเปลี่ยนได้อยู่บริเวณผิวของคอลลอยด์ดิน
              สังกะสีสามารถทำปฏิกิริยากับอินทรียวัตถุ เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนละลายน้ำได้ยาก พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สังกะสีที่อยู่ในสารละลายดิน พบในปริมาณต่ำมาก ทำให้พืชขาดธาตุสังกะสี
                เมื่อพืชขาดธาตุสังกะสี จะทำให้การเจริญเติบโตของพืชชะงัก ลำต้นแคระแกรน ใบเป็นสีเหลืองและม้วนงอ ส่วนใบล่างจะเป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าขาดรุนแรงอาจทำให้ไม่ให้ผลผลิต หรือตายในที่สุด พืชที่ขาดธาตุสังกะสีในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ซึ่งใบจะมีลักษณะด่าง เล็กผิดขนาด ใบจะมีสีเขียวอ่อน หรือสีเหลือง ชาวสวนเรียกว่าเป็นโรค ใบแก้วถ้าขาดมากต้นส้มจะแคระแกรนให้ผลน้อย ผลเล็กและคุณภาพต่ำ ในข้าวโพดจะเกิดอาการคลอโรซีส (chlorosis) คือ มีแถบสีขาวจนถึงสีเหลืองจาง ๆ เกิดขึ้นระหว่างเส้นใบ ใบแก่จะมีสีม่วง ออกไหมและติดฝักช้า ขาดรุนแรงใบแก่จะเป็นสีม่วง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแห้งตาย ส่วนในถั่วเหลืองถ้าขาดธาตุสังกะสี จะเกิดจุดสีน้ำตาลที่ใบแก่ เป็นต้น

                                                                                      รูปพืชที่ขาดธาตุสังกะสี
                  วิธีแก้ไขเมื่อพืชขาดธาตุสังกะสี โดยใช้สารสะลายซิงค์ซัลเฟต (ZnSO4) ฉีดพ่นทางใบ หรือใส่ลงไปในสารละลายดิน เมื่อพืชเริ่มแสดงอาการ นอกจากนี้ สามารถที่จะเคลือบเมล็ดด้วยสังกะสีซัลเฟตก่อนปลูก (สุวพันธ์ และคณะ 2532) หรือใช้สังกะสีในรูปของ สังกะสี - คีเลต ก็จะทำให้พืชใช้สังกะสีจากปุ๋ยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์ของธาตุสังกะสี ธาตุสังกะสี พืชต้องการเพียงเล็กน้อย พืชอาจขาดในระยะแรก เมื่อพืชเจริญเติบโตขึ้น ระบบจะแพร่กระจายได้มากขึ้น อาการขาดสังกะสีก็จะหายไป
                   ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พืชได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ ได้แก่ บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ ความเข้มของแสงต่ำ และอากาศชื้น พืชจะดูดธาตุสังกะสีได้น้อยลง พีเอชที่พืชสามารถนำเอาธาตุสังกะสีไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดจะอยู่ในช่วง 5.5 – 6.0 เมื่อ พีเอชสูงกว่า 6.0 ปริมาณที่เป็นประโยชน์ของธาตุสังกะสีจะเริ่มลดลง จะเห็นได้ว่าดินที่มี พีเอชสูง เช่น อัลคาไล (alkaline) และ ดินด่าง มักจะมีสังกะสีที่เป็นประโยชน์ได้น้อย ส่วนดินที่เป็นกรดจัดก็สามารถจะขาดธาตุสังกะสี เนื่องจากถูกชะล้างให้สูญหายไปได้ ดินที่มีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง หรือใส่ปุ๋ยฟอสเฟตในอัตราส่วนสูง ฟอสเฟตก็จะไปทำปฏิกริยากับสังกะสีเกิดเป็นสารประกอบ สังกะสีฟอสเฟต ซึ่งตกตอนละลายน้ำได้ยากพืชไม่สามารถนำเอาไปใช้ได้ นอกจากนี้สังกะสีสามารถทำปฏิกิริยากับดินที่มีอินทรียวัตถุสูงได้แก่ดินพรุ เกิดเป็นสารประกอบอินทรีย์เชิงซ้อนที่ละลายได้ยาก ทำให้ดินขาดธาตุสังกะสีได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น