การฟ้องหย่า
คำว่า “หย่า”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ร้าง,
เลิกเป็นผัวเป็นเมียกัน, เลิก จาก
ซึ่งความหมายที่ว่า “เลิกเป็นผัวเป็นเมียกัน” ดูจะตรงกับความหมายตามกฎหมายที่สุด
คือเมื่อสามีภรรยาที่สมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย
จะมีการจดทะเบียนสมรสไว้ที่อำเภอหรือเขต เวลาเลิกร้างห่างเหสิเนหา
หมดความเป็นสามีภรรยากันต่อไป ต้องการตัดขาดจากกันอย่างแน่นอน
ก็ต้องทำพิธีกรรมที่เรียกว่า “หย่า” เสียให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะฉะนั้นคำว่า “หย่า”
ตามกฎหมายจึงหมายถึงการขาดจากการเป็นสามีภรรยา
ตามวิธีการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
แต่ถ้าเป็นสามีภรรยาที่ไม่ได้ตีทะเบียน
คือจูงมือร่วมหอลงโรงกันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ถึงจะจัดพิธีแต่งงานใหญ่โตหรูหราสักเพียงใด กฎหมายหมายก็หายอมรับว่าเป็นสามีภรรยากันไม่
แม้ว่าฝ่ายหญิงจะสูญเสียความเป็นสาวแก่ฝ่ายชายไปแล้ว เธอก็ยังคงมีคำว่า “นางสาว”
นำหน้าชื่ออยู่นั่นเอง และก็ไม่สามารถนามสกุลของฝ่ายชายมาใช้ได้
เมื่อสิ้นรสหมดสวาทต้องการจะขาดกัน สามีภริยาประเภทนี้หาจำเป็นที่จะต้องทำพิธีกรรมการหย่าอะไรให้มันเอิกเกริกไม่
เพียงแต่เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าลากันไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ยังมีสามีภริยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นจำนวนมากที่เข้าใจผิด
คิดว่าเวลาเลิกจากกันจะต้องไปสถานีตำรวจให้ตำรวจลงบันทึกประจำไว้ว่าทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินกันต่อไปจึงจะถือว่าถูกต้อง
ความจริงแล้วไม่จำเป็นเลย
ทั้งนี้
การหย่ากันตามกฎหมายได้กำหนดไว้สองอย่างคือ
หย่าโดยความยินยอมและหย่าโดยความดื้อรั้นดันทุรังของทั้งสองฝ่าย
ซึ่งต้องพึ่งอำนาจศาลให้ช่วยจัดการให้
หย่าโดยความยินยอม กฎหมายให้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงชื่ออย่างน้อยสองคน
และต้องไปทำการจดทะเบียนหย่าที่เขตหรืออำเภอ
ซึ่งการหย่าจะมีผลนับแต่ได้มีการจดทะเบียนหย่าเป็นต้นไป
แต่ถ้าไม่มีการจดทะเบียนหย่า การหย่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
นั่นเป็นกรณีที่สามีภริยาตกลงกันได้
เรื่องก็ยุติลงอย่างง่ายๆ ไม่มีข้อยุ่งยาก แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้
ซึ่งก็เนื่องมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายถือทิฐิดันทุรัง ก็ต้อง “ฟ้องหย่า”
คือต้องหาเหตุ หาเรื่องฟ้องหย่า ยกเว้น ข้อ 6 เพียงข้อเดียวที่ฟ้องหย่าได้
โดยไม่ต้องหาเรื่อง เพราะเป็นการหย่าโดยทั้งสองฝ่ายไม่มีความผิด
เรียกว่าเป็นการหย่าเพราะสมัครใจแยกกันอยู่
เหตุหย่าตามกฎหมายว่าไว้ 12 ข้อ ดังนี้
1. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้
อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้
2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่
ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาหรือฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
3. สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาท
หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้
ถ้าเป็นการร้ายแรงอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ฟ้องหย่าได้
4. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
5. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด
หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย
และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสีย
หรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
6. สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่
เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ปกติสุขตลอดมาเกินสามปี
หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
7. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา
หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
8. สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร
หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ
ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
9. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี
และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้
กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
10. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
11. อีกฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้(โรคเอดก้ใช้ได้)
12. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้น
ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้(ข้อนี้ต้องพึ่งคุณหมอช่วยทำหลักฐานให้)
เมื่อเข้าองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง
หรือหลายข้อ หรือทั้งหมด(แต่จริงๆคงไม่มี)ก็สามารถเขียนคำฟ้องยื่นต่อศาลได้ แต่ถ้าเขียนไม่เป็นก็คงต้องจ้างทนาย แหมตอนจะได้กันก็เสียตังพอจะเลิกกันก็ต้องใช้ตังหน๊อ แต่ถ้าตกลงกันได้ก็ไม่เสียตังนะ
การฟ้องหย่า ฝ่ายที่เสียหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทนด้วย
กรณีแรก ฟ้องหย่าเนื่องจากสามีไปอุปการะเลี้ยงดู
หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยา
มีชู้ ฝ่ายภริยาหรือสามีก็มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยา
ทั้งจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี
แม้ในกรณีที่ยังไม่ถึงขนาดภริยามีชู้
หรือถึงขนาดสามีไปยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เพียงแค่มีผู้มาล่วงเกินภริยาทำนองชู้สาว
เช่น มีคนมากอดจูบภริยาของตน โดยภริยาสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม หรือเพียงแค่มีหญิงอื่นมาแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีสัมพันธ์สวาทกับสามี
อย่างนี้สามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี
ก็สามารถเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่มากอดจูบลูบคลำภริยาตน หรือเรียก
จากหญิงที่มาเปิดเผยตัวได้
หมายเหตุ
แค่เรารู้คนเดียวใช้ไม่ได้ครับ ต้องมีหลักฐาน เช่นรูปถ่าย คลิบวีดีโอ
ให้ศาลดูด้วยหรือมีบุคคลก็ยิ่งดี
แต่ถ้าปรากฏว่าสามียินยอมพร้อมใจให้ภริยามีชู้
หรือยินยอมพร้อมใจให้พรรคพวกมาล่วงเกินภริยาตนในทำนองชู้สาว
สามีก็เรียกค่าทดแทนไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ภริยาที่อนุญาตให้สามียกย่องหญิงอื่นฉันภริยา
หรือยอมให้หญิงแสดงตัวว่าเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง
อย่างนี้ภริยาเรียกค่าทดแทนไม่ได้เช่นกัน
หมายเหตุ
คำว่ายินยอมนี้ต้องพิสูจน์ให้ศาลรู้ด้วย
กรณีที่สอง ก็คือกรณีสามีภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ
กับกรณีสามีภริยาจงใจจะทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง
รวมทั้งกรณีสามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู
หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง สามอย่างที่ว่านี้
ถ้ามีสาเหตุมาจากฝ่ายหนึ่งกลั่นแกล้งอีกฝ่ายหนึ่ง
หรือมุ่งที่จะให้เกิดขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งทนไม่ได้
ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าก็หมดสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิดได้อีกด้วย
ค่าทดแทนทั้งสองกรณี กฎหมายบอกว่าให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
โดยศาลจะสั่งให้ครั้งเดียว หรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ
ทั้งนี้มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นควร นอกจากนี้
ศาลก็จะดูจำนวนทรัพย์สินที่ฝ่ายซึ่งจะต้องได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่าด้วยว่าได้รับไปมากน้อยแค่ไหน
ค่าเลี้ยงชีพ
ในกรณีหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว
และการหย่าทำให้อีกฝ่ายยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากงานที่ทำอยู่ระหว่างสมรส
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ เช่น
สามีทุบตีภริยาทุกวัน ก็เรียกได้ว่าสามีเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งภริยาฟ้องหย่าได้และปรากฏว่าการหย่าทำให้ภริยาเลี้ยงตัวเองไม่รอด
เพราะภริยาไม่ได้ทำงาน หรือทำงานได้เงินเดือนน้อย ต้องพึ่งสามีมาตลอด
ทางศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้ และฐานะของผู้รับ
ถ้าปรากฏว่าหย่ากันแล้วสามีเป็นฝ่ายจนลง
เพราะต้องพึ่งเงินทองของภริยาซึ่งมีฐานะดีกว่ามาตลอด
อย่างนี้ศาลไม่กำหนดค่าเลี้ยงชีพให้
อันว่าสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้นเป็นอันหมดสิ้น ถ้าไม่ได้ฟ้องขอไว้ในคดีหย่า
เพราะฉะนั้นถ้ามีสิทธิ เรียกร้องสิทธิด้วยมิฉะนั้นจะหมดสิทธิ
สมมติว่าศาลกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพแต่งงานใหม่
สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพก็จะหมดไปทันที
ส่วนเรื่องอายุความสิทธิฟ้องร้องในเหตุหย่าตาม (1) (2) (3) หรือ (6) ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้กล่าวอ้างรู้หรือรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง เช่น
สามีรู้ว่าภริยามีชู้แล้วไม่ฟ้อง หย่าจนพ้นกำหนด 1 ปี
นับแต่วันที่รู้ความจริง สิทธิฟ้องด้วยเหตุนี้ย่อมหมดสิ้นไปทันที
แต่อาจนำมาเป็นข้อสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอื่นเช่น อ้างว่าภริยาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(ถ้าเหตุหย่าข้อนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี
หมายเหตุ
อันนี้พิสูจน์ยากว่ารู้แต่เมื่อไร บางทีรู้ตั้งนาน ก็แกล้งบอกเพิ่งรู้ก็ได้
สุดท้ายก็คือ การแบ่งสินสมรส
กฎหมายบอกว่าให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่าๆ กัน ถ้าฝ่ายหนึ่งเอาสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งไปจำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว
หรือทำให้อีกฝ่ายเสียหาย หรือไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
จงใจทำลายให้สูญไป ฝ่ายที่ได้จำหน่ายของเขาไป ต้องเอาส่วนของตนชดเชยใช้ให้จนครบ
คนนี้ละอยากหย่าไหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น