การปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลิตผลสูง
ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญหลายอย่าง เช่น การปลูกด้วยข้าวพันธุ์ดี
วิธีการปลูกและดูแลรักษาดี มีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าว
มีการกำจัดวัชพืช มีการใส่ปุ๋ยในนาข้าว มีการรักษาระดับน้ำในนา
ข้าวพันธุ์ดีจะให้ผลิตผลสูงเมื่อได้มีวิธีการปลูกและดูแลรักษาดีเท่านั้น
ฉะนั้น ผู้ปลูกข้าวจะต้องมีความเข้าใจว่า
ข้าวพันธุ์ดีที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวนาปลูกนั้น ควรได้รับวิธีการปลูกและดูแลรักษาอย่างไร ที่เป็นอย่างนี้เพราะข้าวพันธุ์ดีมีลักษณะรูปต้นไม่เหมือนกับพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวนาปลูกกันมาตั้งแต่สมัยก่อน
ข้าวพันธุ์ดีในที่นี้หมายถึง พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะรูปต้นดี
เช่น มีความสูงประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ เซนติเมตรจากพื้นดินถึงปลายรวงของรวงที่สูงที่สุด
แตกกอมากในสีเขียวแก่ ตั้งตรง ปลายใบไม่โค้งงอ
และเป็นพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลง ตอบสนองต่อปุ๋ยสูง
คือ ให้ผลิตผลสูงมากขึ้นเมื่อใส่ปุ๋ยมากขึ้น ดังนั้น การ
ปลูกข้าวพันธุ์ดีเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงนั้นควรปฏิบัติดังนี้
การเตรียมดิน
การเตรียมดินควรทำการไถดะ ๑ ครั้ง และไถแปรเพื่อทำให้ดินแตกละเอียดพอสมควรอีก
๒ ครั้ง แล้วคราดเอาหญ้าออก สำหรับในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว การคราดครั้งสุดท้ายจะต้องทำให้ดินแตกเป็นเทือกโคลนด้วย
เพราะจะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตและตั้งตัวได้รวดเร็ว รากจะเดินหาอาหารได้สะดวก ขณะที่กำลังปักดำระดับน้ำในนาควรมีประมาณ
๕ เซนติเมตร เพื่อจะได้ช่วยประคองไม่ให้ต้นพับ สำหรับดินทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องทำการปักดำทันทีหลังจากที่ได้ไถดะและเก็บวัชพืชออกแล้ว
เพราะเป็นดินทราย มีอินทรียวัตถุต่ำและดินตกตะกอนเร็ว ทำให้ดินเกาะตัวเป็นพื้นแข็งหลังจากการไถแล้วหนึ่งวัน
จนทำให้ยากแก่การปักดำ
การที่จะปรับปรุงดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีกว่านี้
อาจทำได้โดยการไถกลบตอซังทันที หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
ทั้งนี้เพื่อให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น ถ้าจะมีการใส่ปุ๋ยหมักลงไปด้วยก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น
เพราะนอกจากจะปรับปรุงคุณสมบัติของดินแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยในดินนาด้วย
การเลือกใช้ต้นกล้าปักดำ
การใช้ต้นกล้าที่มีอายุแก่เกินไปมาปักดำ
จะทำให้มีการแตกกอน้อยและให้ผลิตผลต่ำ
อายุของต้นกล้าที่เหมาะสำหรับการปักดำควรมีอายุประมาณ ๒๕-๓๐ วัน พันธุ์ข้าวพวก กข.๗ กข.๙ กข.๒๑ กข.๒๓ และ
กข.๑๐ (กข. หมายถึง กรมการข้าว
และเลขคี่ หมาย ถึง ข้าวเจ้า เลขคู่
หมายถึง ข้าวเหนียว เพราะฉะนั้น กข.๗ และกข.๙
เป็นข้าวเจ้า ส่วน กข.๑๐ เป็นข้าวเหนียว) ต้นกล้าที่มีอายุ ๒๐ วัน ก็ใช้ได้
ต้นกล้าที่มีอายุดังกล่าวนี้ จะฟื้นตัวเร็วหลังปักดำ และมีการแตกกอมาก
เวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหรือปักดำ
การปลูกข้าวเร็วหรือช้าเกินไป อาจทำให้ผลิตผลลดลงได้ เป็นต้นว่า
ใช้พันธุ์ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสงปลูกในฤดูนาปี
โดยปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทั้ง ๆ
ที่พันธุ์ดังกล่าวนี้ จะออกรวงในต้นเดือนธันวาคม
ทำให้ต้นข้าวต้องอยู่ในนานานกว่าจำเป็น เปิดโอกาสให้โรค และแมลงเข้าทำลายต้นข้าวได้เป็นเวลานาน
เดือนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง
และออกดอกในต้นเดือนธันวาคมนี้ คือ เดือนสิงหาคม เพราะต้นข้าวจะได้มีเวลาเจริญเติบโต
จนออกรวงประมาณ ๑๒๐ วัน
ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับข้าวที่ให้ผลิตผลสูง แต่ถ้าปักดำช้ากว่านี้
ต้นข้าวจะมีระยะเวลาไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโต จึงทำให้ได้ผลิตผลต่ำกว่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม สภาพของอากาศและความยาวของช่วงแสงของกลางวัน
อาจมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่มีความไวต่อช่วงแสงย่อมให้ผลิตผลไม่สูงถ้าปลูกในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม
เช่น พันธุ์ กข.๑ ให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง
โดยจะเริ่มปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะให้ผลิตผลต่ำ ถ้าเริ่มปลูกในเดือนธันวาคม
ระยะปลูก
ระยะปลูกก็มีความสัมพันธ์กับการให้ผลิตผล ระยะปลูกนั้น หมายถึง
ระยะห่างระหว่างกอและระหว่างแถว ถ้าปลูกห่างก็จะเปลืองเนื้อที่
ถ้าปลูกถี่ก็จะเปลืองเมล็ดพันธุ์ ระยะปลูกที่ดีสำหรับข้าวพันธุ์ดี
คือ ระหว่างกอห่างกัน ๒๐ เซนติเมตร และระหว่างแถวห่างกัน
๒๕ เซนติเมตร นอกจากนี้
ระยะปลูกนั้นยังขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและชนิดของพันธุ์ข้าวด้วย
ในที่ดินทรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลว
จะต้องปลูกให้ถี่กว่าในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินดี คือ
ระยะห่างระหว่างกอและระหว่างแถวอาจเป็น ๑๕
และ ๒๐ เซนติเมตรตามลำดับ เพราะการแตกกอน้อยในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลว
แต่ละกอที่ปักดำควรใช้ต้นกล้าประมาณ ๓-๕ ต้น
ส่วนนาหว่านควรใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๘-๑๕ กิโลกรัม/ไร่
การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเป็นอาหารพืชที่ต้นข้าวต้องการมากสำหรับการเจริญเติบโต โดยเฉพาะดินนาที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลวจะต้องมีการใส่ปุ๋ยในดินนั้น
เพื่อต้นข้าวจะได้แข็งแรงแตกกอมาก และให้ผลิตผลสูง
ควรใส่ปุ๋ยทั้งในแปลงกล้าและแปลงปักดำ ตลอดถึงพื้นที่นาที่ปลูกแบบหว่าน
ธาตุอาหารที่ต้นข้าวต้องการปุ๋ยมาก ได้แก่
ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เพราะฉะนั้น ปุ๋ยข้าวจะต้องมีธาตุเหล่านี้จำนวนมาก
การใส่ปุ๋ยควรแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ก่อนตกกล้า ก่อนปักดำ ซึ่งเรียกว่า
ปุ๋ยรองพื้น และก่อนออกรวง ซึ่งเรียกว่า ปุ๋ยแต่งหน้า
ปุ๋ยรองพื้นช่วยให้ต้นขาวเจริญเติบโตเร็ว และแตกกอมาก
ปุ๋ยแต่งหน้าช่วยให้ต้นข้าวมีรวงโตเมล็ดมาก น้ำหนักเมล็ดดี
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
หลังจากการตกกล้าและปักดำ ชาวนาต้องหมั่นออกไปตรวจดูต้นข้าว
เพื่อจะได้ทราบว่า มีโรคและแมลงแมลงอยู่แล้ว แต่จะทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายน้อยที่สุด เมื่อได้มีการใช้สารเคมีช่วยกำจัดและทำลายโรคและแมลงที่เกิดขึ้นนั้นด้วย
ทั้งนี้เพราะข้าวพันธุ์ดีไม่ได้มีความต้านทานสูงต่อโรคและแมลงทุกชนิด
แต่มันต้านทานเฉพาะโรคหรือแมลงที่สำคัญ ๆ เท่านั้น
การกำจัดวัชพืช
วัชพืชในนามีหลายชนิด แต่ละชนิดต่างก็พยายามจะแย่งอาหารหรือปุ๋ยจากต้นข้าว
เพราะฉะนั้น ชาวนาจะต้องกำจัดวัชพืชให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การปราบวัชพืชทำได้โดยวิธีการใช้มือถอน หรือใช้ยาฆ่าวัชพืชก็ได้
ยาที่ใช้ก็มีทั้งรูปที่เป็นน้ำเหลวหรือเป็นเม็ดหว่านลงไปในนาได้โดยตรง
การรักษาระดับน้ำในนา
น้ำในนาหลังจากปลูกข้าวแล้ว ควรจะต้องมีอยู่เสมอประมาณ
๕-๑๐ เซนติเมตร เพราะน้ำในระดับนี้
เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าวที่มีต้นเตี้ยประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ เซนติเมตร เช่น กข.๗ กข.๙ กข.๒๑ และ กข.๒๓ ส่วนในนาที่ปลูกข้าว กข.๑๓
ซึ่งมีต้นสูงประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร จะต้องมีน้ำประมาณ ๒๐-๓๐
เซนติเมตร และเมื่อต้นข้าวได้ออกรวงแล้วประมาณ ๒ สัปดาห์
จะต้องไขน้ำออกจากนาให้หมด
เพื่อทำให้เมล็ดแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ในขณะที่ดินนานั้นแห้ง
ทำให้สะดวกแก่การเข้าไปเก็บเกี่ยว การขาดน้ำในระยะการเจริญเติบโตของข้าว นอกจากจะทำให้ต้นข้าวไม่เจริญเติบโตแล้ว
ยังทำให้เกิดมีวัชพืชจำนวนมากด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น