วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การทำยางแผ่น


การทำยางแผ่นรมควัน

          เนื่องจากเจ้าของสวนยางในประเทศไทยเกือบทุกสวนยังคงทำยางแบบเก่า  คือ ยางแผ่นรมควันกันอยู่  และคงจะต้องทำเช่นนี้ต่อไป จนกว่ารัฐหรือเอกชนจะสร้างโรงงานผลิตยางแท่งทั่วทุกท้องที่ที่มีการปลูกยาง  ความสำคัญของการทำยางทุกชนิด ขึ้นอยู่กับความสะอาดเป็นสำคัญ  ถ้าสะอาดมากก็ถือว่าเป็นยางชั้นดีมาก และขายได้ราคาสูง  ฉะนั้น ในการทำยางแต่ละขั้น  จะต้องระมัดระวังให้สะอาดที่สุด ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึง  วิธีทำยางแผ่นรมควันเป็นขั้น ๆ  นับตั้งแต่ได้น้ำยางมาจากสวน
ขั้นที่ ๑ 
          น้ำยางที่ได้มาจากสวนจะต้องกรองให้สะอาดเสียก่อน การกรองครั้งแรกให้กรองด้วยตะแกรงลวด  (ที่ไม่เป็นสนิมหรือทองเหลือง) ขนาด  ๔๐  ตา หรือ  รู/นิ้ว เพื่อกรองเอาผงหยาบ ๆ  เช่น เศษเปลือก  ผง ผงจากใบไม้หรือดินทราย ฯลฯ ออกชั้นหนึ่งก่อน เมื่อกรองเอาผงหยาบ ๆ  ออกแล้ว  จะต้องเติมน้ำประมาณ ๑ เท่า เพื่อให้น้ำยางใส การเติมน้ำควรใช้เครื่องวัดความเข้มข้นของน้ำยาง ให้น้ำยางสม่ำเสมอกันทุกครั้ง เพื่อให้น้ำยางในปริมาตรเดียวกัน มีเนื้อยางเท่า ๆ  กัน   การทำแผ่นจะได้บางและมีน้ำหนักเท่ากัน เมื่อนำเข้ารมในโรงรมควันจะได้สุกพร้อมกัน  เมื่อเติมน้ำจนมีความเข้มข้นตามต้องการแล้ว โดยปกติจะเติมให้มีเนื้อยางผสมอยู่ในน้ำเพียงร้อยละ ๑๕ (น้ำยางที่ได้มาจากต้นมีเนื้อยางแห้งประมาณร้อยละ ๓๐-๓๕ ของน้ำยางทั้งหมด) แล้วจึงกรองด้วยตะแกรงกรองชนิดละเอียดขนาด ๖๐ รู/นิ้ว เทรวมลงไปในถังรวมน้ำยาง  เพื่อให้น้ำยางทุก ๆ  ต้นผสมเป็นเนื้อเดียวกัน   ถังรวมน้ำยางดังกล่าวนี้ มีความสำคัญในการที่จะทำยางชั้นดีอยู่มาก ถ้าเป็นสวนยางขนาดใหญ่  จะมีถังอะลูมิเนียมรวมน้ำยางขนาดจุ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐  ลิตร  หรืออาจทำถังหรืออ่างซีเมนต์บรรจุ โดยไม่จำกัดจำนวนก็ได้ เมื่อเอาน้ำยางที่กรองผสมกันหมดแล้ว ปล่อยให้น้ำยางตกตะกอนประมาณ ๒๐ - ๓๐ นาที แล้วจึงเอาน้ำยางตอนบน ๆ  ไปใช้ทำแผ่นต่อไป ส่วนน้ำยางตอนล่างซึ่งมีเป็นจำนวนน้อยมาก  อาจจะมีผงเล็ก ๆ  ตกตะกอนอยู่บ้าง  จะแยกเอาไปใช้ทำเป็นยางแผ่นชั้นต่ำ เพราะเป็นยางที่มีความสะอาดน้อยกว่า



ขั้นที่ ๒ 
          ถ้าเป็นสวนขนาดเล็กจะนำน้ำยางที่กรอง และผสมน้ำแล้ว  ตวงใส่ตะกงเดี่ยว ซึ่งทำด้วยอะลูมิเนียม หรือสังกะสี       ขนาดกว้างยาวสูงประมาณ  ๔๕ x ๒๖ x   เซนติเมตร  บรรจุน้ำยางได้ประมาณ ๖-๗  ลิตร  ทำยางได้หนักแผ่นละ  ๗๐๐-๘๐๐ กรัม  ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ จะใช้ตะกงขนาดใหญ่  มีแผ่นกั้นเป็นช่อง ๆ  ซึ่งเรียกว่า  ตะกงตับ ก็ได้  ทำยางได้ตะกงละ ๑๕๐ แผ่น 
ขั้นที่ ๓ 

          การทำให้ยางจับตัวเป็นก้อน โดยค่อย ๆ  ผสมน้ำกรดฟอร์มิกกับน้ำให้เจือจางเพียง  ๑%  หรือ  ๒% เทลงไปในน้ำยางตามอัตราส่วน ถ้าจะให้ยางแข็งตัวจับเป็นก้อนในวันรุ่งขึ้น  จะใช้กรดเพียง  ๔ ซีซี / เนื้อยางแห้ง ๑,๐๐๐ กรัมหรือ    กิโลกรัม ถ้าจะให้ยางแข็งตัวภายใน ๑-๒ ชั่วโมง ก็ให้ใช้กรดฟอร์มิกมากขึ้น เป็น ๘-๑๐ ซีซี / ยางแห้ง ๑,๐๐๐ กรัม ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้กรดฟอร์มิกประมาณ  ๑% ของน้ำหนักเนื้อยางแห้ง การใส่กรดลงไปในน้ำยางต้องค่อย ๆ  ใส่ลงไปทีละน้อย แล้วรีบคนให้ทั่ว เพื่อไม่ให้น้ำยางตรงที่ถูกกรดจับตัวเป็นก้อนในทันทีทันใด เมื่อใส่น้ำกรดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตักฟองเอาออก และระวังไม่ให้ฝุ่น ผงหรือสิ่งสกปรกตกลงไป
          น้ำกรดที่ทำให้ยางจับตัวเป็นก้อนมิใช่มีแต่กรดฟอร์มิกแต่อย่างเดียว กรดน้ำส้มหรือกรดอะเซติกก็ใช้ได้ดี ถ้าใช้กรดน้ำส้มจะต้องใช้เพิ่มขึ้นประมาณเกือบเท่าตัวของกรดฟอร์มิก กรดกำมะถันก็ใช้ได้และราคาก็ถูกกว่า แต่การใช้ค่อนข้างยาก ต้องใช้การคำนวณให้แน่นอน ถ้าใช้มากไปน้อยไปทำให้ยางเสียได้ง่าย  ขณะนี้ปรากฏว่า ยางเสียหายมาก ทั้งนี้เพราะน้ำกรดที่ขายในตลาดไม่ทราบว่ากรดอะไรแน่นอน จึงไม่แนะนำให้ใช้กรดกำมะถันและกรดชนิดอื่น ๆ 

ขั้นที่ ๔ 
          เมื่อยางในตะกงจับตัวเป็นก้อนดีแล้ว  ตัวก้อนยางจะจับตัวเป็นแผ่นลอยอยู่เหนือน้ำ และน้ำที่อยู่รอบ ๆ  ยางจะใส (ถ้าน้ำขุ่นอยู่แสดงว่า ยังจับตัวกันไม่เรียบร้อย)  ให้เอาน้ำสะอาดราดลงบนยางเพื่อไล่ฝุ่นละอองออก แล้วนำตะกงยางคว่ำลงบนโต๊ะที่ล้างสะอาดดีแล้วมาทีละแผ่น ใช้ไม้ลูกกลิ้งหรือขวดเบียร์ค่อย ๆ กลิ้งและกดให้แบนจนตลอดแผ่น เพื่อไล่น้ำออกตรงปลายที่จะนำเข้าเครื่อง (คือทางด้านกว้าง) ทำให้แบนมาก ๆ  จะได้ส่งเข้าเครื่องรีดได้สะดวก
          เครื่องรีดยางหรือเครื่องทำแผ่นยางที่กล่าวนี้  คล้าย ๆ กับเครื่องรีดปลาหมึก  แต่ใหญ่กว่ามากใช้มือหมุน มีลูกกลิ้ง ๑ คู่ ยาวประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร (๒๐ - ๒๔ นิ้ว) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เซน ติเมตร (๔ นิ้ว)  มีที่ขันให้ลูกกลิ้งทั้งสองเบียดกันหรือห่างกันได้ เครื่องรีดยางชุดหนึ่งอย่างน้อยจะต้องมี ๒ เครื่อง คือ เครื่องรีดเกลี้ยง ๑ เครื่อง และเครื่องรีดดอกอีก    เครื่อง  ที่ลูกกลิ้งทั้ง ๒ อันของเครื่องรีดดอกนั้น มีร่องเป็นเกลียวรอบตัวและเต็มลูกกลิ้ง  แต่ละร่องมีขนาดกว้างประมาณ ๓ มิลลิเมตร วนเอียงประมาณ ๔๕ องศา ขนานกันทุกร่อง จากปลายข้างหนึ่งไปยังปลายอีกข้างหนึ่ง
          ยางที่แข็งตัวและนวดให้ส่วนน้ำออกไปบ้างแล้ว  จะนำเข้าเครื่อง  รีดเกลี้ยง ๒ - ๓  ครั้ง จนแผ่นยางบางประมาณ ๒-๓  มิลลิเมตร จึงนำเข้าเครื่องรีดดอก  ยางแผ่นจะปรากฏเป็นร่องเล็ก ๆ  เฉียงพาดไปทั่วแผ่น ทั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดเนื้อที่มากขึ้นกว่าแผ่นเลี่ยน ๆ  ซึ่งจะสามารถรับความร้อนและควันได้มาก จนทำให้ยางสุกทั่วแผ่นเร็วขึ้น
          ส่วนสวนยางขนาดใหญ่ จะไม่ใช้เครื่องรีดด้วยมือ  ดังกล่าวนี้ เพราะทำได้ช้า จะใช้เครื่องรีดยางอัตโนมัติ  เครื่องรีดยางชนิดนี้จะมีลูกกลิ้ง ๔ หรือ ๕ คู่เรียงเกือบชิดกัน คู่สุดท้ายจะเป็นลูกกลิ้งดอก เครื่องหนึ่งจะทำยางแผ่นได้ชั่วโมงละ ๗๐๐-๘๐๐  แผ่นขึ้นไป
          ยางที่รีดเป็นแผ่นเสร็จแล้ว จะนำไปแช่น้ำ อาจจะเป็นในอ่างใหญ่หรือบ่อซีเมนต์ที่มีน้ำไหลผ่านเข้าและออกได้ตลอดเวลา เพื่อไล่น้ำกรดและสิ่งสกปรก หรือ  คราบน้ำมันของเครื่องรีดดอกให้หมดแช่ไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง 
ขั้นที่ ๕ 
          เมื่อแช่ยางล้างน้ำกรดออกเสร็จแล้ว  นำยางไปผึ่งบนราวไม้ไผ่หรือลวดเพื่อให้แห้ง  เมื่อแห้งหรือน้ำหยุดหยดจากยางแล้ว  นำเข้ารมในโรงรมต่อไป  ในทางปฏิบัติ เจ้าของสวนยางขนาดเล็กมักจะขายยางแผ่นที่แห้งแล้วให้ผู้ค้ายาง  หรือผู้ส่งยางออกนอกประเทศ  ซึ่งผู้ค้ายางหรือผู้ส่งยางออกจะนำยางที่ซื้อไปรมควัน  ยางแผ่นที่ไม่รมจะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ได้เพราะไม่มีผู้ซื้อยางชนิดนี้
          ส่วนสวนยางขนาดใหญ่  จะมีรถรมยางเดินบนรางเหล็กมารับยางที่แช่น้ำแล้ว  เอาไปผึ่งบนราวไม้บนรถรมยาง รถรมยางดังกล่าวนี้ มีขนาดกว้างยาวสูงประมาณ  ๒๑๕ x ๒๗๕ x ๓๑๐  เซนติเมตร  พาดยางได้คันละประมาณ  ๔๐๐-๖๐๐ แผ่น ในการรมจะนำเข้ารมทั้งรถทั้งยาง นับว่าสะดวกดีมาก
          การรมจะใช้ความร้อนประมาณ  ๑๐๐  องศาฟาเรนไฮต์ สำหรับ ๓-๔ ชั่วโมงแรก  แล้วจะค่อย    เพิ่มขึ้น  สำหรับวันแรกจะใช้ความร้อนไม่เกิน ๑๒๐  องศาฟาเรนไฮต์ วันที่ ๒ เพิ่มขึ้นเป็น ๑๓๐  องศาฟาเรนไฮต์   และในวันที่ ๓  ที่ ๔  จะใช้ความร้อน  ๑๔๕  องศาฟาเรนไฮต์  ซึ่งเป็นความร้อนสูงสุดสำหรับการรมยาง ความร้อนภายในโรงรมยางแต่ละวัน ควรอยู่ในระดับขาดเกินจากที่กำหนดไว้เพียง ฑ๕  องศาฟาเรนไฮต์เท่านั้น ถ้ายางแผ่นทำได้มาตรฐาน  คือ มีความหนาประมาณ ๒-๓  มิลลิเมตร และใช้กรดผสมยางชั้นดี จะรมได้ที่หรือสุกภายใน ๔ - ๕  วัน หลังจากนั้น จะเอาออกมาคัดเลือกเป็นยางชั้น  ๑-๒-๓-๔  และ ๕ ตามมาตรฐานสากลต่อไป  ชั้นของยางถือเอาความสะอาดเป็นเกณฑ์และตัดสินกันด้วยตา ตาของผู้ขายในประเทศไทยกับตาของผู้ซื้อในต่างประเทศมักจะไม่ตรงกัน จึงมีการโต้แย้งเรียกร้องเงินคืนหรือตัดราคากันอยู่เป็นประจำ
          โรงรมยาง  โดยที่สวนยางมีอยู่หลายขนาด  ฉะนั้น  โรงรมยางจึงมีหลายแบบ  คือ  แบบจิ๋ว  รมได้ครั้งละประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ แผ่น โรงรมแบบ ๒ ชั้น  มีหลายขนาด รมได้ตั้งแต่ ๑,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ แผ่น  แต่โรงรมเหล่านี้ คนต้องเอายางเข้าไปในโรงรม  โดยพาดไว้บนราวไม้ให้เป็นระเบียบ  เมื่อรมสุกแล้ว  ต้องเข้าไปลำเลียงเอาออกมา
          ส่วนสวนยางขนาดใหญ่จะใช้รถรมยางเข้าช่วย  เมื่อต้องใช้รถรมยาง โรงรมยางก็ต้องทำให้เหมาะกับรถรมยางที่ต้องเดินบนรางเหล็ก  โรงรมยางสำหรับรถรมยางจึงมี ๒ แบบ คือ แบบห้องแถว และ แบบอุโมงค์ สำหรับแบบห้องแถว  รถรมยางจะถูกนำเข้ารมเป็นห้อง  ๆ มีความร้อนและควันแยกเข้าเป็นห้อง ๆ ไป  ส่วนแบบอุโมงค์นั้นเป็นเหมือนอุโมงค์รถไฟ คือ เข้าทางเดียว เมื่อเข้าไปแล้วจะถอยกลับทางเก่าไม่ได้ ต้องออกอีกทางหนึ่ง
          อย่างไรก็ดี  โรงรมทุกแบบจะต้องให้ความร้อนเป็นขั้น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และความสำคัญของโรงรมยางที่ดีนั้น  จะต้องประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้
          (๑) กระจายความร้อนได้สม่ำเสมอเท่ากันทั่วห้อง  เว้นแต่แบบอุโมงค์ความร้อนตรงตอนที่จะออกจะสูงกว่าตรงตอนแรกที่เข้าไป
          (๒)มีการควบคุมอุณหภูมิได้ดี
          (๓)การระบายอากาศดี
          (๔)มีการป้องกันไฟไหม้ไว้เป็นอย่างดี
          (๕)น้ำที่หยดจากยางมีทางไหลออกได้เร็วดี
          (๖)ควัน  และความร้อนไม่รั่วไหลออกได้ 

ขั้นที่ ๖ 
          การทำห่อยาง เมื่อได้คัดเลือกยางเป็นชั้น ๆ  ดีแล้ว  จะต้องห่อยางให้เป็นไปตามข้อบังคับสากล  ซึ่งสมาคมผู้ค้ายางของประเทศต่าง ๆ  ได้ตกลงกันไว้  คือ จะต้องใช้ยางที่มีคุณภาพชั้นเดียวกันห่อยาง ยางห่อหนึ่งจะต้องอัดให้แน่น ให้มีน้ำหนักตั้งแต่ ๒๒๔ - ๒๕๐  ปอนด์ (๑๐ ห่อจะเท่ากับน้ำหนัก ๑ ตัน) ไม่ต้องมีลวดรัด  ห่อหนึ่งจะมีปริมาตรประมาณ    ลูกบาศก์ฟุต   ฉะนั้น  การห่อยางจะต้องห่อให้กว้าง ยาว สูงประมาณ  ๒๐ x ๒๔ x ๑๘ นิ้ว   การทำห่อโดยวิธีอื่น  เรือเดินทะเลจะไม่รับขนส่งให้
          ยางทุกห่อจะต้องทาด้วยแป้งสีขาว  ตามสูตรการผสมแป้งของข้อบังคับสากล ทั้งนี้เพื่อมิให้ห่อยางติดกัน  และจะต้องเขียนบอกชั้นของยางไว้ ๒ ด้าน โดยใช้ตัวอักษรใหญ่ขนาด ๘ นิ้ว ชื่อของบริษัทผู้ส่งยางออก  จะต้องเขียนให้เห็น ๒  ด้านเช่นกัน  โดยใช้ตัวอักษรขนาด ๕ นิ้ว ถ้าจะมีเลขบอกครั้งที่หรือจำนวนก็ให้เขียนไว้ใต้ชื่อของบริษัทผู้ส่งยางออกโดยใช้เขียนด้วย๕นิ้ว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น